วันอาทิตย์ที่ 22 กันยายน พ.ศ. 2556

การขับรถครั้งแรก (เกียร์อัตโนมัติ)


ตอนที่เริ่มขับรถเป็นครั้งแรก ทุกคนคงรู้สึกตื่นเต้น เกร็งไม่รู้จะเริ่มอย่างไรดี คงเป็นอาการปกติ เพราะผมเองก็เคยมีประสบการณ์ในการขับรถครั้งแรกเช่นเดียวกัน แต่ผมก็ศึกษาหาข้อมูลเกี่ยวกับวิธีการขับรถพร้อมทั้งศึกษาคู่มือประจำรถต่างๆค่อนข้างเยอะหน่อย แล้วค่อยลงมือขับจริงอย่างน้อยก็ช่วยลดความเสี่ยงไม่ต้องไปนั่งลองผิดลองถูกบนท้องถนน
บางคนขับครั้งแรกก็ขับเป็นเลยก็มี หรือบางคนก็ใช้เวลาหลายวันกว่าจะเป็น ขึ้นอยู่กับความมั่นใจและความเข้าใจล้วนๆครับ สำหรับคนที่ฝึกขับรถด้วยตัวเองครั้งแรกเลย ขอแนะนำดังนี้ครับ

1) ขึ้นไปนั่งบนเบาะคนขับแล้วปรับระดับเบาะให้ช่วงขาพอดีกับแป้นเหยีบคันเร่งและเบรค ไม่ควรงอเข่าหรือเหยีดสุดขาเกินไป เอาให้นั่งสบายๆ ปรับความสูงของเบาะให้เรามองเห็นทัศนวิสัยได้ถนัดด้วย

2) ปรับระดับพวงมาลัยให้ได้ระดับที่เราจับได้ถนัด ทีปรับอยู่ใต้คอพวงมาลัย (ดูในคู่มือรถแต่ละรุ่น)

3) ปลดระบบล็อคทุกอย่าง ล็อคเกียร์ ,ล็อคเทค หรือล็อคอื่นๆ

4) อย่าลืมคาดเข็มขัดนิรภัย


5) เสียบกุญแจแล้วบิดสวิตซ์ไปที่ Acc ระบบไฟเตือนต่างๆจะขึ้นที่หน้าจอ แล้วดับไป(ถ้าสัญญาณไฟอะไรค้างอยู่แสดงว่าส่วนนั้นผิดปกติ ให้ไปดูที่คู่มือรถ) บิดกุญแจไปที่ Start แล้วค้างไว้ประมาณ 2-3 วินาที เครื่องยนต์จะติดก็ปล่อยมือจากกุญแจได้ (เกียร์ยังอยู่ที่ P)

6) เหยียบเบรคค้างไว้แล้วดึงคันเกียร์มาที่ D (บางยี่ห้อกดปุ่มที่เกียร์ บางยี่ห้อไม่ต้องกด)

7) ค่อยๆปล่อยเบรคจนสุด รถจะเริ่มไหลด้วยความเร็วที่ต่ำสุด ถ้าเป็นทางเรียบ ลองฝึกควบคุมรถด้วยความเร็วระดับนี้ดู ลองเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา จนรู้ระยะของพวงมาลัยว่าหมุนเท่าไหร่รถจะเลี้ยวไปเท่าไหร่ แล้วค่อยลองเหยียบคันเร่งดู (การเหยีบคันเร่งและเบรคต้องใช้ขาขวาข้าเดียวเท่านั้น เพื่อป้องกันไม่ให้เหยีบคันเร่งกับเบรคพร้อมกัน)

8) ลองเหยีบคันเร่งเบาๆ แบบที่เรายังสามารถควบคุมรถได้อยู่ แล้วลองทดสอบ ขับตรงๆ เลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวาเพื่อจับความรู้สึกเวลาเลี้ยวและระยะในการเลี้ยวได้ถ้าเริ่มชินก็ออกถนนได้(ถนนโล่งๆก่อนนะครับ)
***เวลาเหยียบคันเร่งให้ลองนึกภาพแนวเส้นที่เรียงกันตามระดับ ต้องเหยียบแบบค่อยๆไล่ระดับ 1 > 2 > 3 > 4 > 5 อย่าเหยียบแบบพรวดจากระดับ 1 ลงไป 5 เลย

9) ถ้าจะจอดก็ปล่อยเท้าจากคันเร่ง แล้วค่อยๆเหยียบเบรคลงไปทีละนิดจนกระทั่งรถหยุดนิ่ง แล้วก็เปลี่ยนเกียร์จาก D มาเป็น P แล้วดึงเบรคมือขึ้น

10) บิดกุญแจรถไปตำแหน่งซ้ายสุดเพื่อดับเครื่งยนต์ เป็นอันเสร็จพิธี (ถ้าลงรถอย่าลืมถอดกุญแจมาด้วยนะ)


ก็ต้องลองดูหลายๆรอบ พยายามทำความเข้าใจกับวิธีการควบคุมรถให้ดี อย่าลืมว่าสิ่งสำคัญที่จะทำให้ขับรถยนต์เป็นคือ "ความมั่นใจและความเข้าใจ"

วันศุกร์ที่ 7 มิถุนายน พ.ศ. 2556

วันไปซื้อรถยนต์ต้องเตรียมอะไรบ้าง การเตรียมตัววันไปซื้อรถ

หลังจากที่ประเมิณสภาพทางการเงินจนมั่นใจแล้วว่าเราไม่มีปํญหาในเรื่อง เงินดาวน์และค่างวดในระยะยาว หรือ มีตังค์ซื้อสดก็ตามแต่ และก็ได้ศึกษาเปรียบเทียบข้อมูลรถยนต์แต่ละรุ่นแต่ละค่ายอย่างหนัก จนได้รถยนต์รุ่นและยี่ห้อที่ตรงใจแล้ว และที่สำคัญตกลงกับคนในครอบครัวแน่นอนแล้ว สิ่งที่จะต้องเตรียมตัวในวันที่จะไปออกรถที่ศูนย์หรือโชว์รูม


1.ข้อมูลของรถยนต์รุ่นและยี่ห้อที่เราเลือกไว้แล้ว ทั้งข้อมูลทางเทคนิค เช่นความจุกระบอกสูบกี่ซีซี กำลังเครื่องยนต์กี่แรงม้า ลักษณะการขับเคลื่อน เกียร์ เป็นต้น และข้อมูลทางกายภาพ เช่น สีภายนอก สีภายใน อุปกรณ์ต่างๆ ไฟหน้าไฟเลี้ยว เป็นต้น จะได้มีข้อมูลในการคุยกับพนักงานขาย ถ้าเราไม่มีข้อมูลเลย แน่นอนครับหลายๆ เซลล์บอกอันนู้นดีกว่าอันนี้ อันนี้ดีกว่าอันโน้น เคลิ้มครับ ไปๆมาๆงบบานปลายอีก
2.ดูหลายๆศูนย์หลายๆโชว์รูมเปรียบเทียบกัน ดูข้อเสนอวงเงินดาวน์ ดอกเบี้ย ของแถม ถ้าให้ดีเช็คประวัติย้อนหลังก่อนนิดนึงว่าประวัติการให้บริการดีมั้ย

3.รายการของแถม ปกติแล้วเซลล์ก็จะถามว่าอยากได้ของแถมอะไรบ้างถ้าเราไม่มีรรายการไปก็อ้ำๆอึ้งๆ เซลล์ก็แถมให้ตามสูตร ประกัน สเกิร์ท สปอยเลอร์ และก็พรม กระจุ๊กกระจิ๊กอีกสิบรายการที่ไม่ค่อยมีประโยชน์ เพราะฉนั้นเตรียมรายการไปเลยครับ เวลาคุยกับเซลล์ก็กางแผ่นรายการออกมาเลยแล้วถามกลับไปว่าให้อะไรได้บ้างแล้วค่อยนำไปเปรียบเทียบกันว่าที่ไหนให้เยอะกว่า ตัวอย่างรายการของแถม
- ประกัน
- สเกิร์ท
- สปอยเลอร์
- เบาะหนัง
- ไฟตัดหมอก
- ปลายท่อ stainless
- Sensor ถอย
- สัญญาณกันขโมย
- พรมกันน้ำ ถาดใส่ของท้ายรถ
- คิ้วกันสาด
- พรมปูพื้น
- สคัฟเพลท
- ชุดแต่งแบบ sport เช่นแป้นเหยียบ
- ผ้าคลุมรถ
- ชุดลายไม้ ลายแคฟล่า
- กรอบทะเบียนกันน้ำ
- หัวเกียร์หนัง
- Locktech
- และอื่นๆ

4.ลองนั่งหรือทดลองขับ เมื่อไปถึงศูนย์หรือโชว์รูมแล้วต้องทำการทดลองนั่งหรือขับดูว่ารู้สึกอย่างไร โอเคมั้ย จะได้ประกอบการตัดสินใจครั้งสุดท้าย

5.เอกสารธุรกรรม ควรเตรียมไว้ให้เรียบร้อยถ้าคิดจะจองเลยในวันนั้น เช่น สำเนาบัตรประชาชน สำเนาทะเบียนบ้าน สเตจเมนท์ย้อนหลัง สลิปเงินเดือนย้อนหลัง(กรณีไม่ได้ซื้อเงินสด) หรือถ้าไม่สะดวกก็ตกลงกับเซลล์ว่าเราสะดวกวันไหน เอกสารต้องใช้อะไรบ้าง

หลังจากที่มีการจอง และทำสัญญาซื้อขายกันเรียบร้อยแล้ว เซลล์ก็จะแจ้งกำหนดการณ์วันรับรถ อันนี้ก็แล้วแต่เราสะดวก อาจจะดูฤกษ์ยามเพื่อความสบายใจ แล้วก็เจออีกทีในวันส่งมอบรถ

วันพุธที่ 17 เมษายน พ.ศ. 2556

กฎจราจร และกติกามารยาทในการขับรถยนต์เบื้องต้นสำหรับมือใหม่หัดขับ


และแล้วเมื่อเราตกลงปลงใจที่จะซื้อรถยนต์ที่ถูกใจแล้ว ก่อนที่จะไปที่ศูนย์หรือโชว์รูมเพื่อซื้อรถกลับมาไว้ในครอบครอง เราก็ต้องฝึกฝนในการควบคุมรถให้มีความชำนาญในระดับหนึ่ง และที่ขาดไม่ได้คือต้องทำความเข้าใจ กฎจราจร และกติกามารยาทในการขับขี่บนท้องถนนเบื้องต้น เพื่อความปลอดภัยของตัวเรานั่นเอง ซึ่งมีหัวข้อที่สำคัญๆ ที่เรามักเจอในสถานการณ์จริงบนท้องถนน ดังนี้
1. ขับช้าอยู่เลนซ้าย
กรณีที่ถนนมีหลายเลน หรือถนนหลักมีหลายช่องจราจร ถ้าเราขับช้าให้ขับอยู่ในเลนซ้าย ส่วนรถที่ขับเร็วกว่าก็จะขับอยู่ในเลนขวา เนื่องจากตามกฎจราจรแล้วห้ามแซงทางด้านซ้าย รถที่ขับช้าจึงต้องชิดซ้ายเพื่อให้รถที่เร็วกว่าแซงไปทางขวานั่นเอง
2.เปิดไฟเลี้ยวทุกครั้งก่อนเปลี่ยนช่องจราจร
ถ้าเราจะทำการเปลี่ยนเลนหรือเปลี่ยนช่องจราจร จะต้องเปิดสัญญาณไฟเลี้ยวด้านที่เราจะไป เพื่อบอกให้รถที่ตามมาด้านหลังรู้ว่ารถเรากำลังเปลี่ยนช่องจราจร ไม่เช่นนั้นเราอาจจะไปปาดหน้ารถคนอื่นและเกิดอุบัติเหตุได้
3.อย่าเปิดไฟสูงถ้าไม่จำเป็น
กรณีที่เปิดไฟสูงใช้เมื่อต้องการขอทางรถข้างหน้าที่อาจขับช้า กดขอทางทางทีเดียวพอ เนื่องจากไฟสูงจะมีแสงที่จ้ามากและระดับเข้าดวงตาพอดี ถ้าเราเปิดทิ้งไว้รถที่สวนมาจะมองไม่เห็นถนนและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้
4.กรณีที่มีเหตุจำเป็นต้องจอดข้างทางให้เปิดไฟฉุกเฉิน
ไฟฉุกเฉินหลายคนเข้าใจผิดใช้ขอทางเวลาจะข้ามแยกอันนั้นผิดนะครับ ไฟฉุกเฉินกดตรงปุ่มที่มีเครื่องหมายสามเหลี่ยมก็ต่อเมื่อเรามีเหตุจำเป็นหรือเหตุฉุกเฉินที่ต้องหยุดรถบนถนน ซึ่งเราต้องพยายามจอดรถชิดเลนซ้ายของถนน หรือกรณีที่รถเราเกิดอุบัติเหตุกลางถนนจึงเปิดไฟฉุกเฉิน
5.อย่าใช้แตรถ้าไม่จำเป็น
แตรเป็นสัญญาณเสียงที่ดังมาก ซึ่งปุ่มกดจะอยู่ตรงกลางพวงมาลัย ใช้เพื่อส่งสัญญาณให้คนอื่นรู้ตัว ซึ่งอาจมองไม่เห็นรถเรา เช่นมีรถจอดขวางทางอยู่ หรือเรากำลังขับผ่านแยกที่เป็นมุมตึกหรือสิ่งกีดขวางทำให้มองไม่เห็นรถที่มาอีกทางหนึ่ง ก็ต้องกดแตรเพื่อส่งสัญญาณให้รู้ตัว
6.อย่าแซงด้านซ้าย
กรณีที่คันหน้าขับช้ากว่าเราและเราต้องการจะแซง ให้เปิดไฟเลี้ยวก่อนและขับแซงทางด้านขวาเท่านั้น เนื่องจากทางด้านซ้ายเป็นจุดอับสายตา ของรถคันหน้าทำให้เขาไม่เห็นว่าเรากำลังจะแซงและอาจปาดหน้าไปเฉี่่ยวชนกันได้
7.ให้รถที่อยู่ในวงเวียนไปก่อน
กรณีที่กำลังจะขับรถเข้าในวงเวียนที่มีรถอยู่แล้วเราต้องให้รถที่อยู่ในวงเวียนซึ่งจะมาทางด้านขวาผ่านไปก่อน เราจึงสามารถแทรกเข้าวงเวียนได้
8.เจอทางแยกไม่มีไฟแดงให้รถทีอยู่ทางขวาไปก่อน 
กรณีที่เจอทางแยกที่ไม่มีสัญญาณไฟแดง เราต้องให้รถที่อยู่ทางขวามือไปก่อน
9.ให้รถที่อยู่ทางหลักไปก่อน
กรณีเจอทางแยกที่ไม่มีไฟแดงโดยทางที่เราอยู่เป็นซอยเล็ก รถที่ออกจากซอยต้องให้รถที่อยู่ในทางหลักไปก่อน
10.อย่าขับคร่อมเลน
กรณีที่ถนนมีหลายเลนให้เราขับอยู่ในเลนหรือช่องจราจรช่องใดช่องหนึ่ง อย่าขับคร่อมเส้นแบ่งเนเพราะจะเป็นการกีดขวางผู้อื่น

วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม พ.ศ. 2556

การใช้งานอุปกรณ์ควบคุมรถยนต์แบบเกียร์ออโต้ สำหรับมือใหม่หัดขับ

อุปกรณ์ที่สำคัญที่สุดที่มือใหม่หัดขับต้องหมั่นฝึกฝนให้เกิดความชำนาญ คืออุปกรณ์ที่ใช้ในการควบคุมการเคลื่อนที่ของรถยนต์นั่นเอง ซึ่งจะสามารถเข้าใจได้อย่างถ่องแท้ต้องสัมผัสของจริงเท่านั้น แต่ก่อนอื่นมาลองดูว่าหลักๆแล้วมีอะไรบ้างและลักษณะการทำงานเป็นอย่างไรบ้าง

1. พวงมาลัย ( Steering wheel )


พวงมาลัย ( Steering wheel ) ใช้ในการควบคุมทิศทางการเคลื่อนที่ของรถ ให้เคลื่อนที่ไปในทิศทางที่ต้องการ หลักๆคือ เคลื่อนที่ทางตรง , เคลื่อนที่ไปทางซ้าย , เคลื่อนที่ไปทางขวา ทั้งเดินหน้าและถอยหลังเหมือนกันครับ หลักการเดียวกัน
สำหรับมือใหม่หัดขับหลายคนกังวลว่าเวลาจะเลี้ยวโค้งต้องหมุนพวงมาลัยมากน้อยขนาดไหนถึงจะพอดี เวลาขับจริงตอนจะเลี้ยวให้หมุนพวงมาลัยแล้วดูว่าของจริงรถมันเลี้ยวไปมากน้อยแค่ไหนครับ ถ้าได้แล้วก็พอ ถ้ายังไม่ได้ก็หมุนเพิ่มอีกจนกว่ารถจะเข้าเส้นทางที่ต้องการ คือให้ดูการเคลื่อนที่ของรถเป็นหลักไม่ต้องพะวงกับพวงมาลัยครับและเมื่อเข้าสู่ทางตรงแล้วให้คลายมือเบาๆแล้วพวงมาลัยก็จะหมุนกลับที่เดิมครับ ถ้าให้ดีลองจากสนามซ้อมหรือถนนโล่งๆดูก่อนครับ

2. คันเร่ง ( Accelerator )

คันเร่ง ใช้ในการเพิ่มหรือลดรอบการทำงานของเครื่องยนต์ ถ้าเหยียบลงมากก็ทำให้รถยนต์เคลื่อนที่เร็วขึ้นหรือถ้าเหยียบน้อยลงก็ลดความเร็วลง
สำหรับมือใหม่หัดขับนั้นถามว่าต้องเหยียบคันเร่งมากแค่ไหนถึงจะได้ความเร็วพอดี ให้ใช้หลักการเดียวกันกับพวงมาลัยครับ คือให้ดูความเร็วที่เกิดขึ้นจริงว่าตอนนี้เร็วแค่ไหน ถ้าเร็วเกินไปก็ผ่อนเท้าขึ้นมาหน่อย ถ้าช้าไปก็เหยียบคันเร่งลงไปอีก สำหรับลักษณะการเหยียบคันเร่งที่เหมาะสมคือต้องค่อยไล่ระดับลงไปทีละนิดเบาๆ หรือค่อยผ่อนเท้าขึ้นเบาๆ ไม่ใช่ลักษณะการเหยียบแบบพรวดเดียวจมมิด หรือปล่อยทีเดียวจนสุด

3. เบรก ( Brake )

เบรก ใช้ในการหยุดหรือลดความเร็วของรถ ถ้าเหยียบสุดก็คือการหยุดรถ ถ้าแตะนิดเดียวก็จะเป็นการลดความเร็ว สำหรับมือใหม่หัดขับการหยุดรถจะต้องค่อยๆเหยียบเบรกให้ความเร็วของรถลดลงก่อนจนเกือบจะหยุดนิ่งแล้วค่อยเหยียบเบรกลงจนสุดเพื่อหยุดรถ ถ้าขับมาด้วยควาเร็วแล้วเหยียบเบรกพรวดเดียวสุดเลยสิ่งที่จะเกิดขึ้นคือรถไถลไปเบรกไม่อยู่ หรือถ้าขับมาด้วยความเร็วสูงรถก็พลิกคว่ำ ถ้าไม่เร็วมากก็คนในรถหัวขมำ และก็โดนรถคันอื่นชนท้ายในที่สุด

4. เกียร์ ( Gear )

เกียร์ เป็นอุปกรณ์ที่ใช้กำหนดรูปแบบการเคลื่อนที่ของรถยนต์ สำหรับการเปลี่ยนเกียร์นั้นต้องให้รถอยู่ในสภาพหยุดนิ่งก่อนทุกครั้ง ซึ่งเกียร์ต่างๆก็มีดังนี้
P      = เกียร์สำหรับเวลาจอดรถ
R      = เกียร์สำหรับให้รถเคลื่อนที่ถอยหลัง
N      = เกียร์ว่าง ใช้ขณะที่หยุดรถอยู่กับที่
D      = เกียร์สำหรับให้รถเคลื่อนที่ไปข้างหน้า
3,2,L = เป็นเกียร์ต่ำสำหรับขับขึ้นหรือลงทางลาดชันเช่นภูเขา

5. สัญญาณไฟ ( Lighting )


การเปิดไฟเป็นการให้แสงสว่างในเวลาที่แสงน้อย อีกทั้งยังมีไฟสัญญาณต่างๆที่จำเป็นต้องเข้าใจและใช้ให้ถูกต้องตามสถานการณ์ด้วย
เปิดไฟเลี้ยวด้านซ้าย - เป็นการส่งสัญญาณให้รถคันอื่นรู้ว่าเรากำลังจะเลี้ยวรถไปทางซ้ายหรือเปลี่ยนช่องจราจร(เลน)ไปช่องทางซ้ายควรเปิดก่อนเลี้ยวประมาณ 60 เมตร
เปิดไฟเลี้ยวด้านขวา - เป็นการส่งสัญญาณให้รถคันอื่นรู้ว่าเรากำลังจะเลี้ยวรถไปทางขวาหรือเปลี่ยนช่องจราจร(เลน)ไปช่องทางขวาควรเปิดก่อนเลี้ยวประมาณ 60 เมตร
เปิดไฟสูง - ใช้ในการส่องดูทางหรือเปิดเพื่อขอทางรถคคันข้างหน้า แต่ไม่ควรเปิดค้างไว้นาน ให้ใช้แป๊บเดียวและใช้เมื่อจำเป็นเท่านั้น
เปิดไฟฉุกเฉิน - ปุ่มที่มีสัญลักษณ์สามเหลี่ยมชี้ไปข้างหน้า ใช้ในกรณีที่มีความจำเป็นต้องจอดรถในกรณีฉุกเฉิน หลายคนเข้าใจผิดใช้ขอทางบริเวณทางแยกอันนี้ผิดนะครับ
ไฟหรี่ - หมุนสวิทซ์ไฟแค่หนึ่งสเต็ป ไฟหน้าจะไม่ติดแต่ไฟท้ายและไฟหน้าจอจะติด ใช้ในการขับขี่เวลาเช้าตรู่หรือโพล้เพล้ ให้รถที่ตามมาสามารถมองเห็นรถของเราได้ชัดขึ้น

วันพุธที่ 23 มกราคม พ.ศ. 2556

สิ่งที่ต้องรู้และปฏิบัติ สำหรับมือใหม่หัดขับ



1. รู้จักส่วนประกอบ และอุปกรณ์ต่างๆของตัวรถ ต้องรู้ว่าอุปกรณ์ไหนคืออะไร มีหน้าที่อย่างไร ปุ่มไหนใช้ทำอะไร ถามว่าจะรู้ได้อย่างไร รถทุกคันมีคู่มือครับ ละเอียดและครบถ้วนทุกอย่างแน่นอน แต่ถ้าขี้เกียจอ่านก็เรียกเพื่อนที่ขับเป็นมาถามและสาธิตให้ดูแบบนี้รู้เร็วกว่าแต่อาจจะไม่ชัวร์นะครับ


2. รู้และเข้าใจกฎจราจร อันนี้สำคัญมากครับเพราะเมื่อเราเริ่มขับรถชีวิตของเราไม่ได้ขึ้นอยู่กับเราเสมอไปอีกแล้ว ในประเทศไทยมีรถยนต์ขับอยู่บนถนนประมาณ 28ล้านคัน ดังนั้นการขับขี่ตามกฎจราจรจะทำให้ปลอดภัยได้

3. ฝึกทักษะในการควบคุมรถ คือการฝึกบังคับรบให้ได้ตามที่เราต้องการ เช่น
    - เดินหน้า-ถอยหลัง
    - เลี้ยวซ้าย-ขวา, ถอยหลังด้านซ้าย-ถอยหลังด้านขวา
    - การเบรก , การจอด , การแซง
    สิ่งเหล่านี้เป็นพื้นฐานที่ต้องชำนาญในระดับหนึ่ง ถ้าเวลาขับจริงแล้วไม่มีเวลามาลองแล้วว่าอันไหนทำอย่างไร


4. ต้องมีสมาธิในการขับรถ ต้องฝึกสมาธิและจิตใจ การขับรถต้องมีสมาธิคือจิตใจจดจ่ออย่กับการขับรถตลอด ถ้าเหม่อหรือใจลอยนั่นหมายถึงอุบัติเหตุที่อาจเกิดขึ้นได้


5. ต้องฝึกการมองและการกะระยะให้แม่นยำ การขับรถนั้นต้องมองรอบด้านอยูตลอดเวลาเพราะเวลาที่เราขับรถออกถนนสิ่งที่รายรอบตัวเราก็คือรถของคนอื่นเต็มไปหมด ต้องฝึกมองบ่อยๆทั้งกระจกส่องหลัง กระจกส่องข้าง และด้านหน้าของรถ


6. หาโอกาสขับบนถนนจริงบ่อยๆ ต้องเริ่มถนนที่โล่งๆ รถน้อยๆ จะทำให้เราได้ฝึกทุกสิ่งจากบนถนนจริงนี้ ซึ่งจะส่งผลให้เราก้าวกระโดดอย่างรวดเร็วจากมือใหม่ไปสู่มือโปรเลยทีเดียวเชียว